การขึ้นเครื่องบินครั้งแรก หรือขึ้นเครื่องบินไปต่างประเทศคนเดียวครั้งแรก อาจทำให้รู้สึกตื่นเต้นและเป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่ในชีวิต ซึ่งทำให้หลายคนรู้สึกเครียดได้อย่างไม่น่าเชื่อ หลาย ๆ คนอยากรู้ขั้นตอนการเดินทางด้วยเครื่องบินว่าต้องทำอะไรบ้าง เช็คอินตรงไหน ต้องสแกนอะไรบ้าง เอา Power Bank ขึ้นเครื่องได้กี่เครื่อง หรือจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อผ่านขั้นตอนการรักษาความปลอดภัยที่สนามบิน ในวันนี้ TravelDiDi.com จึงมีเคล็ดลับและคำอธิบายมาไขข้อข้องใจสำหรับ ‘วิธีขึ้นเครื่องบินครั้งแรก’ ควรเตรียมอะไรบ้าง วิธีการขึ้นเครื่องบินควรรู้อะไรบ้าง ใช้อะไรบ้าง มีอะไรที่ควรรู้ มาเช็กกันได้ง่าย ๆ สะดวก ๆ ให้หายข้องใจกันได้เลยค่ะ
ติดตามเราได้ที่ Facebook TravelDiDi
#1 ตรวจสอบข้อกำหนดสัมภาระและข้อห้ามของสายการบิน
สิ่งที่สำคัญที่สุดในการขึ้นเครื่องบิน นอกจากจะไปเช็กอินและขึ้นเครื่องให้ทันเวลาแล้ว ก็คือควรทราบกฏและข้อบังคับของสายการบิน รวมสิ่งทั้งของที่ห้ามนำขึ้นเครื่องบิน
เมื่อคุณซื้อตั๋วเครื่องบินไม่ว่าจะจองด้วยตัวเองทางเว็บไซต์ออนไลน์หรือจองผ่านเอเจนซี่ คุณจะได้รับข้อมูลทาง Email แจ้งข้อมูลสัมภาระ น้ำหนักกระเป๋า และสิ่งของที่ห้ามนำขึ้นเครื่องบิน หรือหากคุณจองตั๋วเครื่องบินด้วยตัวเอง ในระหว่างขั้นตอนก่อนชำระเงิน ในเว็บไซต์ของสายการบินก็มักจะมีการแสดงข้อมูล ‘สิ่งของที่ต้องห้ามนำขึ้นเครื่องบิน’ และ ‘ข้อกำหนดสัมภาระ’ ที่สามารถเอาขึ้นเครื่องได้ พร้อมทั้งน้ำหนักกระเป๋า ตั้งแต่ก่อนชำระค่าตั๋ว … แม้ว่าสิ่งเหล่านี้อาจจะแตกต่างกันไปตามนโยบายของแต่ละสายการบินและประเภท (Seat Class) ของตั๋วเครื่องบินที่คุณซื้อ และค่าธรรมเนียม แต่โดยทั่วไปทางแต่ละสายการบินก็มักจะมีข้อกำหนดทางมาตรฐานและความปลอดภัยหลัก ๆ ของสายการบิน ดังนี้
สัมภาระถือขึ้นเครื่องบินฟรี 2 ชิ้น
คุณสามารถถือกระเป๋า Carry On ขึ้นเครื่องได้สองชิ้น ประกอบด้วยกระเป๋าใส่สัมภาระหรือกระเป๋าล้อลากที่มีขนาดไม่เกิน 20 นิ้ว น้ำหนักไม่เกิน 7 กิโลกรัม และกระเป๋าสำหรับใส่ของใช้ส่วนตัวขนาดเล็กหนึ่งชิ้น เช่น กระเป๋าเงิน หรือ กระเป๋าสะพาย ซึ่งกระเป๋า Carry On สำหรับขึ้นเครื่องบิน ควรเป็นกระเป๋าที่สามารถรูดซิปหรือปิดฝาซึ่งทำให้สิ่งของได้ในไม่หล่นหรือหกออกมากีดขวางทางเดินบนเครื่องบิน
กระเป๋าเดินทางที่เช็คอินโหลดใต้ท้องเครื่องบิน 1 ใบ
กระเป๋าที่โหลดใต้ท้องเครื่องบิน หรือเรียกว่า Checked Baggage บางสายการบินอาจอนุญาต 1-2 ใบ หรือมากกว่านี้ ขึ้นอยู่กับประเภทตั๋วและนโยบายสายการบิน ซึ่งอาจยกเว้นสายการบิน Low Cost บางแห่งอาจต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพิ่ม … กระเป๋าใบใหญ่สำหรับโหลดใต้ท้องเครื่องควรมีขนาดใหญ่ไม่เกิน 30 นิ้ว โดยควรระวังเรื่องน้ำหนักเกินหรือขนาดที่ใหญ่เกิน ที่อาจมีการเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่ม (ขึ้นอยู่กับสายการบินและสนามบิน) … บางสายการบินอาจมีการกำหนดขนาดความกว้าง ความยาว และความสูงของกระเป๋า รวมถึงน้ำหนักมาอย่างชัดเจน
การนำ Power Bank ขึ้นเครื่องบิน สามารถเอาขึ้นได้กี่เครื่อง?
- Power Bank ที่มีความจุไฟฟ้าน้อยกว่า 20,000 mAh สามารถนำขึ้นเครื่องบินกี่เครื่องก็ได้
- แต่ Power Bank ที่มีความจุไฟฟ้าระหว่าง 20,000 – 32,000 mAh สามารถนำขึ้นเครื่องบินได้ท่านละไม่เกิน 2 เครื่อง
นอกจากนี้ เจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ ขึ้นเครื่องบินได้ขวดละไม่เกิน 350 ml ส่วนของเหลวอื่น ๆ ไม่เกิน 100ml / ชิ้น รวมทั้งหมดแล้วไม่เกิน 1,000 มิลลิลิตร ต่อท่าน
และในบางประเทศอาจมีกฏหมายห้ามนำเนื้อสัตว์บางชนิดเข้าประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่น จึงควรทิ้งแซนวิชหรืออาหารที่มีเนื้อสัตว์ก่อนเดินทางเข้าประเทศนั้น ๆ
#2 เตรียมเอกสารและสิ่งของที่จำเป็น
ในการขึ้นเครื่องบินมีเอกสารจำเป็นที่ต้องติดตัวหลัก ๆ 2 อย่าง ประกอบด้วย บัตรประชาชนหรือพาสปอร์ต และตั๋วเครื่องบิน แต่ในบางกรณีอาจจำเป็นต้องเตรียมเอกสารไปเพิ่มเติม โดยรายชื่อเอกสารที่ควรหรือต้องเตรียมสำหรับขึ้นเครื่องบิน มีดังนี้
- บัตรประจำตัวสำหรับยืนยันตัวตน เช่น พาสปอร์ต (กรณีเดินทางไปต่างประเทศ)
- สูติบัตรตัวจริงสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 7 ปี หรือ บัตรประชาชนสำหรับเด็กอายุ 7 ปีขึ้นไป
- เอกสารที่มีเลข Itinerary หรือข้อมูลการจองตั๋ว ซึ่งจะได้จากเอเจนซี่ที่จองตั๋วให้เรา หรือ หากจองด้วยตัวเองผ่านเว็บไซต์ ก็สามารถหาข้อมูลเลข Itinerary ได้ใน E-mail ยืนยันการจองตั๋ว … ข้อมูลเลข Itinerary นี้ จะนำไปเช็กอินก่อนขึ้นเครื่อง เพื่อโหลดกระเป๋าและรับ ‘ตั๋วเครื่องบิน หรือ Boarding Pass’
- กรณีที่บินภายในประเทศ เช็กอินออนไลน์ และได้รับ E-Boarding Pass ก็สามารถใช้บาร์โค้ดจากแอพพลิเคชั่นสแกนเพื่อเข้าบริเวณผู้โดยสารขาออก ซึ่งสามารถใช้แทนตั๋วเครื่องบินแบบกระดาษได้ โดยส่วนใหญ่จะใช้แบบสแกนหน้าจอจากแอพพลิเคชั่นโดยตรง โดยไม่สามารถใช้เป็นรูปภาพ Bar Code หรือ QR Code แบบแคปหน้าจอ
- ใบรับรองแพทย์ Fit to Fly สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ สำหรับอายุครรภ์ 32-35 สัปดาห์ โดยใบรับรองแพทย์ต้องมีอายุไม่เกิน 7 วันก่อนวันเดินทาง
- ใบรับรองแพทย์สำหรับผู้โดยสารบางท่านที่ต้องพกยาบางชนิดเป็นรายกรณี
- หนังสือยืนยันการฉีดวัคซีน สำหรับเดินทางเข้าบางประเทศ เช่น วัคซีน Yellow fever สำหรับเดินทางเข้าแอฟริกา เป็นต้น
- แผนท่องเที่ยว (ไม่จำเป็น) สำหรับใช้ในการผ่านขั้นตอนตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งบางกรณีเจ้าหน้าที่ต.ม. อาจถาม
- เอกสารรับรองใบอนุญาตกรณีพกกระเป๋าแบรนด์เนมที่ใช้หนังสัตว์ เช่น กระเป๋าหนังจระเข้ แบรนด์ Hermes
เป็นต้น
#3 ตรวจสอบเที่ยวบินและมาถึงสนามบินก่อนเวลาอย่างน้อยสองชั่วโมง
เมื่อไปถึงสนามบิน สิ่งที่ควรทำเป็นอย่างแรกคือค้นหาเคาน์เตอร์ Check-in ของสายการบิน และเช็กสถานะเที่ยวบินที่หน้าจอมอนิเตอร์ในสนามบิน ไอเดียหลัก คือ เพื่อเช็กว่าเที่ยวบินที่เราเดินทางนั้นมาตรงเวลาหรือไม่ หรือมีการ Delay หรือไม่ หรือหากเครื่องบินมาถึงแล้ว เปิดเช็กอินหรือยัง หรือ Boarding ที่ Gate อะไร ก็สามารถเช็กได้จากหน้าจอนี้
สิ่งสำคัญคือควรไปถึงสนามบินล่วงหน้าอย่างน้อยสองชั่วโมง เผื่อเวลารถติด และเวลารอคิว เพราะว่าในบางครั้ง หากมีผู้โดยสารเยอะหรือมีเหตุสุดวิสัย อย่างน้อยก็จะมีเวลาเผื่อสำหรับเช็กอินและเข้าไปใน Gate ได้ทันเวลา
#4 เช็คอิน (เก็บบัตรประชาชนหรือพาสปอร์ตไว้ให้ดี)
ขั้นตอนในการเช็คอินที่สนามบินมีดังนี้
- หากเดินทางมากกว่า 1 ท่าน สามารถเช็กอินพร้อมกันได้
- ยื่นบัตรประชาชนหรือพาสปอร์ต ให้กับเจ้าหน้าที่กราวด์สต๊าฟที่ประจำอยู่ ณ เคาน์เตอร์เช็กอินของแต่ละสายการบิน
- ในบางครั้งอาจมีการขอเลข Itinerary หรือ เลข Booking เมื่อตอนจองตั๋วเครื่องบิน แต่ก็ไม่เสมอไป
- นำกระเป๋า Checked Baggage ชั่งน้ำหนักเพื่อโหลดสัมภาระ โดยห้ามนำแบตเตอรี่สำรอง (Power Bank) ทุกชนิดโหลดขึ้นใต้เครื่องบิน แต่สามารถพกติดตัวขึ้นเครื่องกับกระเป๋า Carry On ได้
- ในบางกรณี บางสายการบินอาจให้คุณชั่งน้ำหนักกระเป๋า Carry On ด้วยค่ะ ซึ่งน้ำหนักห้ามเกิน 7 กิโลกรัม
- หากคุณพกกรรไกรตัดเล็บ มีดโกน โรลออน ยาสีฟัน สเปรย์ ครีม สามารถโหลดไปกับกระเป๋าใต้ท้องเครื่อง แต่ไม่สามารถนำขึ้นเครื่องแบบ Carry On
- หากน้ำหนักกระเป๋าเกิน อาจต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพิ่มตามนโยบายสายการบิน
- หลังเจ้าหน้าที่ติด Tag กระเป๋าเสร็จ ก็จะให้ Baggage Receipt มา ใบเสร็จนี้มีข้อมูลกระเป๋าที่โหลดเข้าใต้ท้องเครื่อง บางท่านอาจเก็บไว้กรณีไว้ใช้เคลมหรือติดต่อหากได้กระเป๋าไม่ครบค่ะ
- อันดับสุดท้าย เจ้าหน้าที่จะพิมพ์ตั๋วเครื่องบิน (Boarding Pass) ให้ พร้อมกับอธิบายเลข Gate ประตูสำหรับเครื่องบิน, เวลา Boarding หรือเวลาขึ้นเครื่อง และเลขที่นั่งของคุณ
ควรเช็กชื่อ-นามสกุล บนตั๋วเครื่องบิน ยืนยันว่าตัวสะกดถูกต้องตรงตามพาสปอร์ตหรือบัตรประชาชน หากสะกดไม่ถูกต้อง ควรรีบแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อแก้ไข
#5 เข้าโซนผู้โดยสารขาออก
หลังเช็กอินแล้ว ก็ถึงเวลาเดินเข้าไปที่ช่องผู้โดยสารขาออก สามารถสังเกตป้าย ‘ผู้โดยสารขาออก’ (Departure) ไม่ว่าจะเป็นภายในประเทศหรือภายนอกประเทศ ก็จะมีป้ายบอกทางชัดเจน บริเวณนี้สามารถเข้าได้เฉพาะผู้โดยสารที่มีตั๋วเครื่องบินเท่านั้น ใครจะร่ำลาญาติหรือผู้ติดตามที่มาส่งก็จะต้องร่ำลากันก่อนเข้าบริเวณนี้ค่ะ และถ้าหากคุณมีเครื่องดื่มติดตัวมาก็จะต้องทิ้งถังขยะก่อนเข้าโซนผู้โดยสารขาออกค่ะ โดยในขั้นตอนนี้ คุณจะต้องเตรียม Boarding Pass และบัตรประชาชนหรือพาสปอร์ต เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบว่าคุณคือผู้เดินทางตัวจริงเสียงจริง ชื่อในบัตรประชาชนตรงกับตั๋วโดยสาร หน้าตาเหมือนกันกับในบัตรประจำตัว และตั๋วเครื่องบินตรงกับไฟลท์ที่ออกเดินทางในวันดังกล่าวจริง ๆ เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนถัดไปค่ะ
#6 ตรวจหนังสือเดินทาง หรือ บัตรประชาชนสำหรับคนไทย และสแกนตั๋วเครื่องบิน
ในขั้นตอนตรวจหนังสือเดินทางหรือบัตรประชาชนไทย ในส่วนนี้สามารถทำได้ด้วยตัวเองกับเครื่องอัตโนมัติ ซึ่งจะมีวิธีสาธิตให้ทำตามได้ง่าย ๆ บนหน้าจอ และยังมีเจ้าหน้าที่คอยแนะนำหรือบริการในกรณีที่พบปัญหาหรือมีความขัดข้องค่ะ เพียงแค่เตรียมบัตรประชาชนหรือพาสปอร์ตและบอร์ดดิ้งพาสสำหรับสแกนไปที่เครื่องและบันทึกใบหน้าโดยยืนตามจุดที่หน้าจอแนะนำ เมื่อเสร็จเรียบร้อย ประตูก็จะเปิดออกอัตโนมัติ เป็นอันเสร็จสิ้น แต่ถ้าหากพบปัญหาขัดข้องก็จะมีเจ้าหน้าที่มาช่วยดูแลและแนะนำโดยไม่ต้องกังวลใด ๆ ทั้งสิ้นค่ะ
รูปภาพประกอบไม่เกี่ยวกับเนื้อหา
#7 สแกนสัมภาระ
เมื่อผ่านการตรวจหนังสือเดินทางแล้ว จากนั้นจะเป็นการตรวจ Security Check ให้นำกระเป๋าและสัมภาระที่ถือติดตัวขึ้นเครื่องเข้าสแกนผ่านสายพาน โดยสิ่งของที่ต้องนำออกจากกระเป๋า หรือถอดออกและนำมาใส่ตระกร้าเข้าสแกน มีดังนี้
- ถอดรองเท้า
- นาฬิกา
- เข็มขัด
- โทรศัพท์มือถือ หรือเครื่องมือสื่อสารทุกชนิด
- อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกซ์
- เครื่องประดับ เช่น สร้อย กำไล ตุ้มหู ห่างหู สร้อยพระ
- พาวเวอร์แบงค์ หรือ แบตเตอรี่สำรอง อื่น ๆ
- ตะกุด พระเครื่อง
- หรือ สิ่งของอื่น ๆ ที่เจ้าหน้าที่ให้นำไปตรวจ
นำไปใส่ในตระกร้าที่เจ้าหน้าที่เตรียมไว้ เพื่อเข้าเครื่องสแกน ส่วนผู้เดินทางสามารถเดินผ่านเครื่อง X-Ray สแกนโลหะ
บริเวณนี้ ห้ามนำน้ำดื่ม ของเหลวที่มีขนาดเกิน 100 ML เข้าไป รวมทั้ง ของมีคม, ปืน หรือสิ่งของที่ผิดกฎหมายและข้อห้ามของสารการบิน
นอกจากนี้ เจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ ขึ้นเครื่องบินได้ขวดละไม่เกิน 350 ml ส่วนของเหลวอื่น ๆ ไม่เกิน 100ml / ชิ้น รวมทั้งหมดแล้วไม่เกิน 1,000 มิลลิลิตร ต่อท่าน
หมายเหตุ: ในขั้นตอนนี้ ที่บางสนามบินอาจจะสลับกันกับขั้นตอนอื่น ๆ แต่ไม่ว่าจะตรวจอะไรก่อนหรือหลัง ก็จะต้องผ่านเข้าตอนเหล่านี้ให้ครบทั้งหมด โดยเริ่มจากตรวจบัตร Boarding Pass และบัตรประชาชนก่อนเข้าบริเวณของผู้โดยสาร จึงควรเตรียมเอกสารเหล่านี้ให้พร้อม และระวังทำตกหล่นระหว่างเดินอยู่ในสนามบิน
#8 รอขึ้นเครื่อง
ผ่านด่านตรวจความปลอดภัยต่าง ๆ แล้ว ก็สามารถใส่รองเท้า รับกระเป๋าและสัมภาระทั้งหมดที่นำไปสแกน ควรตรวจดูสิ่งของทุกชิ้นให้ครบก่อนออกจากบริเวณนี้ หลังจากนี้ก็เป็นเวลารอขึ้นเครื่อง ซึ่งควรเช็กเวลา Boarding Time (เวลาขึ้นเครื่อง) และเช็ก Gate สำหรับขึ้นเครื่องบินก่อน สามารถเช็กเพื่อคอนเฟิร์ม (หากมีเปลี่ยนแปลง) ได้จากหน้าจอมอนิเตอร์ในบริเวณที่พักผู้โดยสาร และหากมีเวลาเหลือก็สามารถเพลิดเพลินกับการช้อปปิ้งสินค้าปลอดภาษีในบริเวณ Duty Free Shopping หรือรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่ร้านอาหารในบริเวณนั้น
#9 ขึ้นเครื่องบิน
เมื่อใกล้ถึงเวลา Boarding Time ผู้โดยสารควรยืนรออยู่บริเวณ Gate สำหรับขึ้นเครื่องบิน ในบางเที่ยวบิน คุณสามารถเดินเข้างวงช้างที่เป็นทางเชื่อมต่อเพื่อเข้าสู่ตัวเครื่องบินได้เลย แต่ในกรณีที่เครื่องบินจอดอยู่ห่างไกลจากอาคารผู้โดยสาร ก็จำเป็นต้องขึ้นรถบัสจาก Gate ไปยังลานจอดเครื่องบิน
การประกาศเรียกขึ้นเครื่องบิน
การเรียกขึ้นเครื่อง โดยปกติจะเริ่มเรียกจากผู้โดยสารชั้น First Class, Business Class, ผู้โดยสารที่ใช้รถเข็น (Wheel Chair) หรือผู้โดยสารที่เดินทางมาพร้อมกับเด็กเล็กก่อน แล้วจึงเรียกผู้โดยสารชั้น Premium Economy หรือ Economy Class แต่บางสายการบินอาจเริ่มเรียกจากกลุ่มผู้โดยสารที่นั่งอยู่บริเวณท้ายเครื่องบินก่อน
การเดินเข้าเครื่องบินและหาที่นั่ง
ในการขึ้นเครื่องบินเข้า Gate สู่ตัวเครื่องบิน เจ้าหน้าที่จะขอดูบัตรที่ใช้ยืนยันตัวตน เช่น บัตรประชาชน หรือ หนังสือเดินทาง Passport และตั๋วเครื่องบิน (Boarding Pass) โดยจะฉีกส่วนที่ภาคพื้นดินต้องใช้เก็บไว้ และคืนส่วนที่เหลือให้ผู้โดยสาร ซึ่งมีเลขที่นั่งและแถวที่นั่งปรากฏอยู่ หากคุณขึ้นเครื่องบินแล้วไม่แน่ใจว่าที่นั่งอยู่บริเวณใด สามารถสอบถามลูกเรือได้
#10 นั่งตามหมายเลข
เมื่อถึงทางเข้าเครื่องบิน คุณจะพบกับลูกเรือ หรือ Cabin Crew ที่ยืนต้อนรับและคอยแนะนำ ลูกเรืออาจขอดู Boarding Pass เพื่อแนะนำว่าที่นั่งของคุณอยู่ฝั่งใด เมื่อถึงที่นั่งแล้ว ควรเก็บสัมภาระไว้บนที่เก็บของเหนือศีรษะ (Overhead Compartment) วิธีเปิดช่องเก็บของจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับประเภทของเครื่องบิน แต่โดยส่วนใหญ่สามารถเปิดได้โดยการ กดปุ่ม หรือ ดึงปุ่ม ช่องเก็บสัมภาระก็จะเปิด ซึ่งหากคุณไม่แน่ใจว่าเปิดหรือปิดอย่างไร หรือไม่แน่ใจว่าที่นั่งของคุณคือที่ใด หรือ หากมีคนมานั่งตรงที่คุณ ก็สามารถขอความช่วยเหลือจากแอร์โฮสเตสหรือลูกเรือในบริเวณนั้นได้
การเก็บกระเป๋า Carry On บนเครื่องบิน
สำหรับการเก็บกระเป๋า Carry On บนเครื่องบิน โดยปกติ ลูกเรือไม่ได้มีหน้าที่ในการยกกระเป๋าใส่บนที่เก็บของเหนือศีรษะ เป็นหน้าที่ของผู้โดยสารแต่ละท่านในการรับผิดชอบสัมภาระของตัวท่านเองเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย และหากสัมภาระของท่านมีน้ำหนักเกินมาตรฐานที่แจ้งไว้ โดยมีน้ำหนักเกินจนไม่สามารถยกได้ หรือ มีขนาดใหญ่เกินกว่าที่ Overhead Bin จะเก็บได้ ก็จะต้องนำไปให้เจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินโหลดเก็บใต้ท้องเครื่อง หากเกิดปัญหากรณีนี้ขึ้น จะต้องใช้เวลาในการโหลดกระเป๋า ทำให้เสียเวลาหรือเครื่องบินอาจ Delay จึงแนะนำให้เช็กกระเป๋า Carry On ให้มีขนาดไม่เกิน 20 นิ้ว และมีน้ำหนักทั้งหมดไม่เกิน 7 กิโลกรัม ตามกฏและข้อบังคับของสายการบินจะปลอดภัยที่สุดค่ะ
เก็บกระเป๋าสะพายไว้ที่ช่องว่างใต้ที่นั่งหรือ Overhead Compartment
ด้วยมาตรฐานความปลอดภัยทางการบิน ระหว่างเครื่องบินกำลังบินขึ้น (Take-Off) สายการบินส่วนใหญ่มักมีนโยบายให้นำกระเป๋าสะพายใส่ไว้ในช่องว่างใต้ที่นั่งบนเครื่องบิน หลายท่านอาจไม่คุ้นชินกับกฏข้อนี้ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นกระเป๋าแบรนด์เนม ยี่ห้อ Chanel, Louis Vuitton, Hermes หรือยี่ห้ออื่น ๆ หากมีขนาดค่อนข้างใหญ่ ทางลูกเรืออาจให้ท่านนำกระเป๋าใส่ไว้ที่ช่องว่างใต้ที่นั่งของท่าน หรือนำไปเก็บไว้บน Overhead Compartment ซึ่งเป็นช่องเก็บของบนศีรษะ โดยจะเก็บไว้เพียงชั่วคราวเท่านั้น เฉพาะระหว่างเครื่องบินกำลังบินขึ้น และเมื่อเครื่องบินบินสูงถึงในระดับที่ปลอดภัย สัญญาณรัดเข็มขัดดับลง และแอร์โฮสเตสเริ่มให้บริการ ก็สามารถนำกระเป๋าส่วนตัวของท่านกลับมาวางไว้บนตักได้เช่นเดิม
ข้อควรระหว่างในการเลือกกระเป๋าแบรนด์เนมหรือกระเป๋าสะพายขึ้นเครื่องบิน คือ ควรใช้กระเป๋าที่มีช่องปิดกระเป๋าหรือมีซิปปิด เพื่อกันสิ่งของด้านในหกออกมาค่ะ
การคาดเข็มขัดบนเครื่องบิน
ทุกที่นั่งผู้โดยสารจะมีเข็มขัดนิรภัย ที่สามารถคาดและปรับให้สายคาดกระชับพอดี ในกรณีที่คุณเดินทางกับเด็กเล็กที่นั่งบนที่นั่งเดียวกับผู้ปกครอง ทางลูกเรือบางสายการบินจะนำสายเข็มขัดสำหรับเด็กเล็กมาให้เพิ่ม และช่วยแนะนำวิธีใส่เข็มขัด
เมื่อคาดเข็มขัดเสร็จแล้ว ควรปรับเก้าอี้ที่นั่งให้ตั้งตรง รวมทั้งเก็บชั้นวางของหน้าที่นั่ง เปิดม่านบังแสง ปิดโทรศัพท์ เครื่องมือสื่อสาร และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด รวมทั้งหูฟัง
กรณีที่เดินทางกับเด็กทารก อายุต่ำกว่า 2 ปี
บนเครื่องบินจะไม่มีเก้าอี้ผู้โดยสารสำหรับเด็กทารกที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี ซึ่งเด็กทารกจะนั่งบนตักแม่ตลอดไฟลท์บิน บนที่นั่งที่จัดให้เป็นพิเศษสำหรับผู้โดยสารที่เดินทางกับเด็กทารก ซึ่งมักจะอยู่บริเวณด้านหน้าของเครื่องบินและสำหรับไฟลท์บินยาวแบบ Long Haul ทางลูกเรือจะเข้ามาช่วยประกอบ ‘เปลเด็ก’ (Baby Bassinet) บนเครื่องบินสำหรับให้เด็กเล็ก ซึ่งเป็นเปลที่เกี่ยวเชื่อมกับผนังหน้าที่นั่งที่กั้นเอาไว้
หมายเหตุ: เปลเด็กไม่สามารถขอทางออนไลน์ได้ จะต้องโทรแจ้ง (Request) กับสายการบินทันทีที่จองเที่ยวบิน และควรไปถึงสนามบินก่อนเวลาเพื่อย้ำคำขอของคุณ
#11 การเดินทางบนเครื่องบิน
ก่อนเครื่องบินจะบินขึ้น ลูกเรือจะสาธิตวิธีการคาดเข็มขัดนิรภัย รวมทั้งวิธีใช้อ็อกซิเจนและอุปกรณ์ฉุกเฉิน รวมทั้งแนะนำทางออกในกรณีที่ต้องมีการอพยพฉุกเฉิน ระหว่างเดินทางบนเครื่องบิน มีข้อควรทำดังนี้
- ไม่ควรเก็บหนังสือเดินทาง (Passport) หรือของสำคัญไว้ในที่เก็บของหน้าที่นั่ง แต่ควรเก็บไว้ในกระเป๋าและนำติดตัวไว้เสมอ
- คาดเข็มขัดนิรภัยไว้เสมอแม้ว่าจะนอนหลับ
- เก็บของมีค่า เช่น กระเป๋าที่ใส่เงินไว้กับตัวตลอด หากเก็บไว้ที่ Overhead Compartment ตอนเครื่องกำลังบินบินขึ้น ก็สามารถหยิบมาเก็บไว้กับตัวเองได้เมื่อกัปตันปิดสัญญาณรัดเข็มขัด
- ระหว่างเครื่องบินกำลังบินขึ้นหรือบินลง ไม่ถอดเข็มขัดหรือใช้ห้องน้ำ
- กัปตันจะมีไฟสื่อสารในกรณีที่ควรรัดเข็มขัด หรืออื่น ๆ และมีประกาศแจ้งให้ทุกคนทราบทั้งเครื่องบิน
- หลังเครื่องบินบินขึ้นอยู่ในระดับที่ปลอดภัยแล้ว สามารถใช้เครื่องมือสื่อสาร โทรศัพท์มือถือ กล้องถ่ายรูป ฟังเพลง และคอมพิวเตอร์ได้ตามปกติ
- ในการเข้าห้องน้ำบนเครื่องบิน ควรปิดฝาก่อนก่อนกด Flush (กดชักโครก) ทุกครั้ง
- วิธีการเปิดประตูห้องน้ำเครื่องบินมี 2 แบบ Pull คือ ดึง ส่วน Push คือผลัก
- หากมีคนอยู่ในห้องน้ำจะมีป้ายขึ้นว่า ‘Occupied’ บริเวณประตู ซึ่งแปลว่า ‘ไม่ว่าง’ มักเป็นอักษรสีแดง
- ส่วนหากห้องน้ำบนเครื่องบินว่าง จะมีข้อความขึ้นว่า ‘Vacant’ ซึ่งแปลว่า ‘ว่าง’ มักเป็นอักษรสีเขียว
- กรณีที่ไฟลท์บินดังกล่าวมีการเสิร์ฟอาหาร คุณสามารถ Request อาหารพิเศษได้ก่อนเวลาบินอย่างน้อย 24 ชั่วโมง (หรือตามนโยบายของแต่ละสายการบิน) ซึ่งหากไม่ได้รีเควสเมนูพิเศษไว้ ก็จะไม่สามารถทำได้บนเครื่องบิน
- ในบางไฟลท์บิน ลูกเรือจะนำใบตรวจคนเข้าเมือง หรือ ใบศุลกากร ของประเทศปลายทางมาแจกก่อนเครื่อง (ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ) ควรกรอกให้เรียบร้อยก่อนถึงสนามบินปลายทาง
#12 ถึงที่หมาย
เมื่อเดินทางถึงที่หมายหรือสนามบินปลายทาง อย่าลืมนำกระเป๋าและสัมภาระออกจาก Overhead Compartment หรือที่เก็บของเหนือศีรษะ และควรตรวจดู ‘Passport’ (หนังสือเดินทาง) และเก็บไว้ในกระเป๋าติดตัวอย่างปลอดภัย
เดินออกจากเครื่องบินเข้าสู่สนามบิน โดยเดินตามป้าย Arrivals (ผู้โดยสารขาเข้า) หรือ Immigration (ตรวจคนเข้าเมือง) และเตรียมเข้าสู่ขั้นตอนการตรวจคนเข้าเมืองของประเทศนั้น ๆ เอกสารที่ต้องเตรียมส่วนใหญ่มีดังนี้
- หนังสือเดินทาง หรือ Passport
- ใบตม. หรือ ใบ Declaration ของศุลกากร
- สมุดบันทึกการฉีดวัคซีน (สำหรับบางประเทศ)
- บางครั้งเจ้าหน้าที่ ตม. อาจถามข้อมูลเพิ่มเติม เช่น มากี่วัน ทำงานอะไร มากับใครบ้าง พักที่ไหน หรือบางรายอาจขอดูแผนการท่องเที่ยว หรือ บัตรเครดิต (แล้วแต่ราย) ซึ่งควรเตรียมคำตอบเหล่านี้ไว้ล่วงหน้า
ด่านตม. (ตรวจคนเข้าเมือง) โดยส่วนมากจะแบ่งแถวออกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย
- Citizen : พลเมือง
- Visitor : ชาวต่างชาติ
กรณีที่คุณเป็นคนไทย สัญชาติไทยและเดินทางไปต่างประเทศ ให้เข้าแถว Visitor ค่ะ
#13 รับกระเป๋าเดินทาง
หลังเสร็จพิธีการตรวจคนเข้าเมือง สามารถเดินออกไปบริเวณสายพานรับกระเป๋าเดินทาง ให้ดูจอมอนิเตอร์ที่จะแจ้งว่าสายการบินและเที่ยวบิน (Flight No.) ของคุณจะโหลดกระเป๋าที่สายพานอะไร หรือ จะสังเกตจากหน้าจอบนสายพานแต่ละช่องก็ได้ คุณสามารถไปยืนรอรับกระเป๋าที่ช่องนั้น
หลังจากรับกระเป๋าแล้ว ควรตรวจสอบป้าย Tag บนกระเป๋าว่าเป็นของคุณหรือไม่ หลายครั้งที่ผู้โดยสารหลายท่านใช้กระเป๋ายี่ห้อเดียวกัน อาจหยิบสลับกันได้
ในกรณีที่กระเป๋าศูนย์หายหรือได้รับความเสียหาย สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ได้ที่บริเวณ Baggage Claim หรือติดต่อเจ้าหน้าที่อยู่ใกล้ที่สุดเพื่อขอคำแนะนำ ในเคสที่กระเป๋าเดินทางชำรุดหรือเสียหาย สามารถขอเคลมกับสายการบินหรือบริษัทประกันการเดินทางได้ตามเงื่อนไขของผู้ให้บริการนั้น ๆ แต่ถ้าหากไม่พบปัญหาก็สามารถเดินออกจากอาคารผู้โดยสารได้เลย
ในการเดินออกจากอาคารผู้โดยสารจะมีช่องสำแดงของศุลกากร 2 ช่อง ประกอบด้วย
- ช่องสีเขียว Customs Nothing To Declare เป็นช่องสำหรับคนที่ไม่มีสิ่งของต้องสำแดง
- ช่องสีแดง Customs Goods To Declare เป็นช่องสำหรับคนที่มีสิ่งของต้องสำแดง เช่น สินค้าที่ต้องมีเอกสารในการนำเข้า หรือสินค้าที่ต้องจ่ายภาษี หรือ อื่น ๆ
ซึ่งเมื่อผ่านขั้นตอนของศุลกากรไปแล้ว ก็ถือว่าออกนอกบริเวณอาคารผู้โดยสารแล้ว ไม่สามารถกลับเข้าไปได้ ยกเว้นมีเหตุสำคัญอาจสอบถามจากเจ้าหน้าที่สนามบินเพื่อขอคำแนะนำเพิ่มเติม
เมื่อคุณออกมาจากอาคารผู้โดยสารแล้ว จะพบกับบริเวณที่รอผู้โดยสาร ในสนามบินบางแห่งอาจมี
- เคาน์เตอร์เช่ารถ
- เคาน์เตอร์รถลีมูซีน
- เคาน์เตอร์ขาย Sim Card
- และอีกมากมาย
- รวมทั้ง Information Counter ที่สามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับสนามบินและการเดินทางออกจากสนามบินได้ค่ะ
หากคุณเดินทางไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่น ที่สนามบินใหญ่ ๆ อาจจะมีการใช้รถไฟเดินทางพาไปสู่อาคารผู้โดยสาร และในอาคารรอรับผู้โดยสารก็มักจะมีร้านสะดวกซื้อ ออฟฟิศ JR Ticket Office และเคาน์เตอร์ส่งของเช่นของบริษัทแมวดำ เป็นต้น หากคุณไม่แน่ใจว่าแต่ละร้านอยู่ที่ใด ก็สามารถสอบถามเจ้าหน้าที่ที่ Information Center ได้ค่ะ คุณสามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น Google Translation ไว้เผื่อใช้ในการสื่อสาร กรณีที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ก็จะเป็นประโยชน์เป็นอย่างยิ่งค่ะ
ติดตามเราได้ที่ Facebook TravelDiDi